การดนตรีไทยสมัยอยุธยา
เรื่องของศิลปะโดยเฉพาะการดนตรีจะเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าก็ต้องในเวลาบ้านเมืองสงบสุข การดนตรีในสมัยอยุธยาส่วนมากจะรับมาจากสมัยสุโขทัยโดยไม่ค่อยจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย เพราะวงดนตรีต่างๆยังคงมีเครื่องดนตรีเท่าเดิม เห็นได้จาก คำพากย์ไหว้ครูหนังใหญ่ของเก่าที่เรียกกันว่า พากย์สามตระ นั้น ในฉบับที่ถือว่าเก่าที่สุด ก็ยังไม่มีระนาดทั้งนั้น หลักฐานที่อ้างอีกอย่างหนึ่งที่ว่าไม่มีระนาดคือ ภาพวงดนตรีบนลายตู้ไม้จำหลักเรื่องวิธูรชาดกภาพวงดนตรีภาพนี้ก็มีแต่ฆ้องวงไม่มีระนาด วงปี่พาทย์เครื่องห้าเพิ่งจะมีระนาดเอาตอนปลายสมัยอยุธยาซึ่งคนไทยจะคิดขึ้นเองหรือได้แบบมาจากมอญก็ไม่ทราบ
มโหรี
ในสมัยอยุธยามีวงดนตรีเพิ่มขึ้นอีกวงหนึ่ง คือ วงดนตรีที่ในสมัยปัจจุบันเราเรียกว่า มโหรี วงมโหรีเป็นวงดนตรีที่ผู้หญิงเป็นผู้บรรเลง ต่อมาจึงได้เพิ่มคนบรรเลงและเครื่องดนตรีขึ้นอีก ๒ อย่าง คือ รำมะนาให้ตีคู่กับโทนคนหนึ่ง กับคนเป่าขลุ่ยอีกคนหนึ่ง
สมัยต่อมาได้นำเอาจะเข้ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของมอญเข้ามาผสมแทนกระจับปี่เพราะบรรเลงเสียงได้ละเอียดลออกว่า เสียงก็ไพเราะกว่า วงมโหรีได้เป็นมาดังนี้จนตลอดสมัยอยุธยา
วงเครื่องสาย
เครื่องดนตรีจำพวกเครื่องสายนั้นในอยุธยาได้มีอยู่แล้วหลายอย่าง สมัยอยุธยาคงจะมีผู้เล่นดนตรีจำพวกซอ ขลุ่ยเป็นจำนวนมาก และอาจจะเล่นกันอย่างแพร่หลายจนความสนุกสนานเพลิดเพลินนั้นทำให้เล่นกันเกินขอบเขตเข้าไปจนถึงใกล้เขตพระราชฐาน จึงกับมีบทบัญญัติกำหนดโทษไว้ในกฎมณเฑียรบาล
เท่าที่ได้รวบรวมกล่าวมาแล้วยอมเป็นที่แน่นอนว่าในสมัยอยุธยานั้นมีเครื่องดนตรีครบทั้ง ๓ ประเภท คือ ปี่พาทย์ มโหรี และเครื่องสาย