หน้าหลัก
  บทเรียน
  ทฤษฎีเกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์
  กิจกรรมและคำถามท้ายบท

   หน่วยย่อยที่ 4 การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์


        การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์
         สาเหตุของการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ได้มีการนำเสนอกันมาหลายปีแล้ว จากทฤษฏีซึ่งได้เคยมีผู้เสนอจำนวนมาก มีคนนับได้ถึง 95 ทฤษฏีที่ต่างกัน ตั้งแต่ความคิดที่ว่าพระเจ้ากลับลงมาในโลกและทำลายล้างด้วยปืนรังสี จนถึงความคิดว่ามันตายเนื่องจากท้องผูกหรือท้องเสีย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของพืชที่เป็นอาหารในยุคนั้น แต่มาถึงปัจจุบันนี้ได้ยอมรับความคิดของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย รวมกันเหลือเป็นเพียง 2 ทฤษฏี คือ

ทฤษฏีที่เกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ 
         
     ทฤษฏีแรกเป็นทฤษฏีของจักรวาลซึ่งให้ความเห็นว่ามีบางอย่างจากนอกโลกทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชีวิตบนโลก เมื่อ 65 ล้านปีมาแล้ว สิ่งที่กล่าวขวัญกันถึงมากเป็นพิเศษ คือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยอุกกาบาตขนาดใหญ่ตกลงมาในโลก ซึ่งผลของการตกทำให้โลกเกิดความเสียหาย ส่งผลให้เกิดฝุ่นและไอน้ำจำนวนมาก กระจายขึ้นสู่บรรยากาศบดบังแสงอาทิตย์ เป็นเวลาแรมเดือน หรือแรมปี ยังผลให้โลกเกิดเย็นลงและมืด เป็นสาเหตุที่ฆ่าสัตว์และพืชรวมทั้งไดโนเสาร์

ภาพจินตนาการเหตุการณ์เมื่อ 65 ล้านปีก่อนเมื่ออุกกาบาตขนาดใหญ่ตกใส่โลก
ส่งผลให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์
ที่มา:http://newsbbc.co.uk


        ทฤษฏีที่สอง มาจากความรู้ที่ว่า ทวีปต่าง ๆ บนโลกมีการเคลื่อนไหวจากกระบวนการที่รู้จักกันในนาม ทวีปจร (Continental Drift) และเกิดเนื่องจากทวีปต่างๆ อยู่บนผิวเปลือกโลกบาง ซึ่งหุ้มห่อภายในโลกที่เป็นของเหลวร้อนเหมือนลาวาที่ไหลออกมาจากภูเขาไฟ ในขณะที่หินเหลวร้อนภายในโลกเคลื่อนไหวนั้น ก็จะดึงเอาเปลือกโลกเคลื่อนตัว ซึ่งจะทำให้ทวีปเคลื่อนที่ไปเหมือนกับมันอยู่บนสายพานขนาดยักษ์นั่นเอง
ในช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่ โลกค่อนข้างอบอุ่น เหมาะกับสัตว์เลี้อยคลาน
ขนาดยักษ์ จนกระทั่งปลายสมัยของยุคไดโนเสาร์ เราจะพบว่าพืชค่อยๆ เปลี่ยนเป็นพวกที่ชอบอากาศเย็นขึ้น ซึ่งสันนิษฐานได้ว่า สภาพอากาศของโลกได้เปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ และเป็นสิ่งที่ไดโนเสาร์ไม่ชอบ เราจะเริ่มพบสัตว์ที่ชอบอากาศเย็นกว่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนหนา เริ่มมีมากกว่าพวกไม่มีขน คำอธิบายนี้ก็คือ ทวีปได้เคลื่อนไปมากในช่วงเวลา 140 ล้านปี ที่ซึ่งไดโนเสาร์อยู่อาศัย และอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไป

ภาพแสดงความเปลี่ยนแปลงของทวีปและอากาศ แบบค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อย ซึ่งพวกโดโนเสาร์ไม่ชอบจนต้องสูญพันธุ์
ที่มา:www.das.uwyo.edu/ geerts/cwx/notes/chap15/ancient_files

จากทฤษฏีแรกที่บอกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยการพุ่งชนของอุกกาบาต ในขณะที่อีกทฤษฏีหนึ่งกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อยของอากาศ ซึ่งอาจจะเป็นพันหรือเป็นล้านปีก็ได้ ในขณะนี้ความรู้ที่เราได้ไม่สามารถจะบอกได้ว่าทฤษฏีไหนจะถูกกว่ากัน ในขณะที่กลุ่มที่เชื่อทฤษฏีดาวตก มีเหตุผลว่า เขาสามารถพิสูจน์ได้ว่าไดโนเสาร์ตายไปทั้งหมดอย่างทันทีทันใด ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีการพบไดโนเสาร์อีกเลย หลังจากยุคครีเทเชียสแล้ว และยังเชื่อว่าสามารถพิสูจน์ได้ว่าดาวตกเป็นเหตุให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ เพราะว่าเขาพบชั้นดินที่สะสมตัวในช่วงปลายยุคครีเทเชียส มีส่วนประกอบของแร่ตัวหนึ่ง ซึ่งมีธาตุอิริเดียมอยู่มากเป็นพิเศษ นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่าอิริเดียมที่มีปริมาณสูงเช่นนี้เกิดได้โดยทางเดียวเท่านั้น คือ จากอุกกาบาตที่มาจากนอกโลก ธาตุอิริเดียมน่าจะมาจากฝุ่นซึ่งเกิดจากการระเบิดของอุกกาบาตขณะที่ชนโลกเหมือนกับระเบิดขนาดมหึมาทีเดียว
แต่เหล่านักวิทยาศาสตร์ที่ชอบทฤษฏีที่อากาศมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ ต่างก็
มีความเห็นว่า ไดโนเสาร์นั้นไม่ได้สูญพันธ์ไปอย่างทันทีทันใด เช่นเดียวกับข้ออ้าง แต่ดูเหมือนว่ามันจะค่อย ๆ ลดน้อยลงในช่วงเวลาหลายล้านปี และยังแสดงลักษณะของพืชหลาย ๆ ชนิดที่ค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นพืชที่ชอบอากาศเย็น นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ยังอ้างถึงธาตุอิริเดียมที่มีค่าผิดปกตินั้นว่า ไม่ได้มาจากการระเบิดของอุกกาบาตที่พุ่งเข้าชนโลก แต่มาจากการระเบิดของภูเขาไฟ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงสิ้นยุคครีเทเชียส ธาตุอิริเดียมถูกกักอยู่ในหินหลอมละลายภายใต้โลก และถูกพ่นขึ้นมาในช่วงเวลาที่เกิดการระเบิดของภูเขาไฟขนาดใหญ่