+ โครงการตามพระราชประสงค์
+ โครงการหลวง
+ โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์
+ โครงการพระราชดำริ
 

กษัตริย์แห่งเทคโนโลยีสารสนเทศ


       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเป็น พระมหากษัตริย์ ที่สนพระทัย ใฝ่รู้และทรงศึกษาอย่างจริงจัง ลึกซึ้งในการค้นคว้า วิจัยเพื่อการพัฒนาในทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ การเกษตร การชลประทาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะด้าน เทคโนโลยี สารสนเทศนั้น ทรงเห็นความสำคัญและประโยชน์อย่างยิ่ง ทรงสนับสนุน การค้นคว้าในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ และทรงนำเทคโนโลยี สารสนเทศ มาใช้ในโครงการพัฒนา ซึ่งสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงนำหลักการ และแนวทางเหล่านี้ มาใช้เป็นพื้นฐานสำคัญ ในการดำเนินโครงการ เทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ

 

ในหลวงกับคอมพิวเตอร

  • ทรงคิดค้น สร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆด้วยพระองค์เอง เช่น ทรงแก้โปรแกรมภาษาไทย CU WRITER ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ * ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เพื่อแสดงผล บนจอภาพ คอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ เช่น แบบจิตรลดา แบบภูพิงค์ ฯลฯ ท ทรงศึกษาการใช้คอมพิวเตอร์แสดงตัว เทวนาครี หรือภาษา แขกบนจอภาพ โดยทรงเริ่มศึกษาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2530
  • ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบันทึกพระราชกรณียกิจและบทพระราชนิพนธ์ต่างๆ
  • ทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนพระราชกรณียกิจต่างๆ ท ทรงประดิษฐ์ ส.ค.ส. ด้วยคอมพิวเตอร์ เผยแพร่ ผ่านสื่อมวลชนเพื่ออวยพรปวงชนชาวไทย
  • ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในงานส่วนพระองค์ทางด้านดนตรี โดยทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการป้อนโน้ตเพลงและเนื้อร้อง
  • ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 1,472,900 บาท ให้มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการ พัฒนาระบบ คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษาพระไตรปิฎกและอรรถกถา โดยได้ทรงศึกษา พระไตรปิฎก และอรรถกถา ฉบับคอมพิวเตอร์นี้ ด้วยพระองค์เอง และมีพระบรมราชวินิจฉัย และพระราชวิจารณ์ ในการออกแบบโปรแกรม สำหรับใช้ ในการสืบค้นข้อมูล ขณะนี้ได้พัฒนาแล้วเสร็จแล้วในชื่อ BUDSIR IV ซึ่งมีข้อมูลประมาณ 450 ล้านตัวอักษร ปัจจุบัน สำนักคอมพิวเตอร์ ได้เริ่มโครงการพัฒนาโปรแกรมพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ ฉบับภาษาไทย เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ทั่วโลกได้ศึกษา อันจะเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้งานโปรแกรมนี้ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

… เท่าที่ทราบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยเรื่องข้อมูลและการทำ filing ข้อมูลต่าง ๆ ทรงรวบรวม และจัดระบบ filing ข้อมูลต่าง ๆ ที่มีอยู่โดยไม่จำเป็นต้องใส่คอมพิวเตอร์ ทรงเก็บเป็นแฟ้ม เป็นหมวดหมู่ ทรงทำมานานแล้ว ทรงเล่าว่า ที่คุณขวัญแก้ว ทำถวายตอนหลังนี่ ทรงเป็นคนสอนให้ทำ หากใครไปสนทนากับคุณขวัญแก้ว เรื่องพระราชกรณียกิจ ในช่วงระยะแรก ที่เสด็จ ขึ้นครองราชย์ ก็จะพบว่าคุณขวัญแก้วจัดเก็บและทำ filing ข้อมูลพระราชกรณียกิจไว้อย่างดี มีเรื่อง การสาธารณสุข การสื่อสาร กับประชาชนทางวิทยุ การเสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาและยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2503 เป็นต้น หรือเรื่อง ถ่ายภาพต่าง ๆ ในส่วนช่างภาพ ส่วนพระองค์ ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ที่มีการ เขียนเบอร์เรียงลำดับ กันมาให้ค้นได้ง่าย ก็เป็นระบบที่ทรงตั้งเอาไว้ หรืออย่างเรื่อง การทำแผนที่ก็ไม่ได้ทรงทำเป็น digital mapping อย่างที่เดี๋ยวนี้นิยมทำกัน เท่าที่ทราบทรงใช้วิธีเสด็จไปที่สถานที่นั้น ๆ ได้สัมผัส ได้เห็น ก็บันทึกไว้ในความทรงจำของท่าน เวลาทรงขับรถไปถึงสะพาน มองดูลำธาร ทรงชะโงกดู เห็นน้ำไหลจากทางไหน ไปทางไหนก็ทราบความสูงต่ำของพื้นที่ ก็ทรงเอาข้อมูลมาบันทึก สร้างในสมอง แบบที่เราสร้างในคอมพิวเตอร์ เป็น digital terrain model หรือเป็นภาพแผนที่ออกมา แล้วทรงบอก model ที่อยู่ในสมองนี้ให้คนอื่นทำในรายละเอียดต่อไปได้ …
      จากปาฐกถา " เทคโนโลยีสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ" 2 มิถุนายน 2538 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ: NECTEC หน้า 5

     … ท่านเป็นคนอย่างที่สมัยก่อนเรียกว่าเป็นคนทำ filing ละเอียดลออ ท่านมีระเบียบ มีวินัย มาถึงลูก ๆ นี่แย่ สมัยก่อนตอนเล็กๆ ทำเลขตั้งแถวบวกลบต้องตรงกันเป๊ะ ท่องสูตรคูณ ท่านก็ไล่จากข้างล่างไปบน กลับถอยหลังช่วงตรงกลาง สมัยเด็ก ๆ แค่นี้ก็หนัก แล้วนับเลขที่ต้องตรงเป๊ะเขียนก็ต้องเรียบร้อย ต้องเป็นรูปเป็นร่างเป็นตัว ท่านเข้มงวด อย่างที่คุณแล้ว คุณขวัญทำเรื่อง filing รูปถ่ายต่าง ๆ นั้น ท่านก็เป็นคนสอน ตอนหลังนี่ท่านก็บ่นว่ามีคนมาหยิบโน่นหยิบนี่ไปจนเละ ของที่หยิบไม่ได้อย่างรูปถ่าย ต้องเอามาเรียงเป็นเบอร์ จัดแฟ้ม จัดอัลบั้ม ท่านสอนทั้งนั้น สอนให้คุณแก้ว คุณขวัญทำ เขียน film เบอร์อะไร การเรียง ทำอย่างไร สมัยนี้มันกลายเป็นเรื่องของ database ไป สมัยก่อนเป็นเรื่องของ filing ไม่ว่าเรื่องอะไร เก็บข้าวเก็บของ ท่านทำเป็นระบบ อันนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องของฐานข้อมูล อย่างสมัย telex เป็นปรุ ๆ เป็นม้วน ๆ ท่านก็เก็บวางไว้เป็นม้วน ๆ ให้เรียบร้อยกระดาษต่าง ๆ ก็จัดเรียงของท่านไว้เป็นแฟ้ม ๆ อย่างเป็นระเบียบ

      จาก "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนทนาเรื่อง พระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว กับเทคโนโลยีสารสนเทศ" วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา หน้า 24-25

      ดร.ไพรัช : ทางด้านคอมพิวเตอร์ ข้าพระพุทธเจ้าเคยได้ยินว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ font

      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ : เข้าใจว่าประดิษฐ์เหมือนกับที่ทำตัวเขียนอะไรต่างๆ อย่างของ PC นี้ แต่ก่อนท่านจะใช้ CU WRITER แล้วก็เอามาทำเขียนทีละตัวๆ เขียนภาษาสันสกฤตซึ่งทำเอง หรือว่าตัวเขียนภาษาไทยนี่ก็ทำเอง เพราะรู้สึกว่าท่านไม่โปรดมากที่เข้าประดิษฐ์ตัวเขียนกันใหม่ๆ ตัวเขียนที่ขีดเส้นฉวัดเฉวียนอะไรนี่ กริ้วทุกที ท่านก็จะเขียนของท่านเอง แต่ว่าที่ประดิษฐ์คำนั้น ท่านก็ใช้ software ของเดิม เพราะฉะนั้น ท่านเคยรับสั่งเมื่อมีการเฉลิมพระเกียรติอะไรกันทีหนึ่ง ว่าจะเอา font ของท่านเผยแพร่ ท่านจึงบอกว่า ความจริงแล้วมันไม่ถูก เพราะลิขสิทธิ์เป็นของคนอื่น ของเราเป็นแค่เอามาเขียน แต่ว่าตัวโปรแกรมเก่าเป็นของคนอื่น ท่านไม่ได้ทำมาเองตั้งแต่ต้น มันไม่ถูก แต่ว่าที่เห็นท่านเขียนเองเป็นตัวสันสกฤต ( หมายถึงอักษรเทวนาครี) ไม่ได้ซื้อมาสำเร็จรูปแบบที่ว่าใครเขาทำเอาไว้แล้ว
 
      ดร.ไพรัช : แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคอมพิวเตอร์หรือเปล่าพ่ะย่ะค่ะ

      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ : ทรง เวลานี้ก็ทรงอยู่ทุกวันเลย อย่างเขียนโน้ตดนตรีนี่ไม่ได้ใช้โปรแกรมดนตรีนะ เขียนขึ้นมาเอง ใช้โปรแกรมธรรมดา คือของโบราณนั่นเอง เสร็จแล้วก็มาเขียน โดยที่ไม่ได้ใช้โปรแกรมดนตรีสำเร็จรูปมาเขียนโน้ตเหมือนคนอื่น นั่งเขียนเอง เวลานี้ คนทำงานถวายในเรื่องนี้คือคุณดิสธร ลูกชายคุณขวัญแก้ว อย่างตอนนี้เวลาเขียนเรื่องต่างๆ ท่านก็ใช้เครื่องพิมพ์ทั้งนั้น แต่ก่อนที่ท่านจะเขียน จะแต่งเรื่องเล่นๆ คือเป็นการทดลอง ยุคแรกๆนั้น ยังไม่ค่อยมีเรื่องเสียง ท่านก็ทำให้พูด สวัสดีครับ อะไรต่อมิอะไรตั้ง 10 กว่าปี นานแล้ว อีกอย่างที่ทำก็คือ วาดเป็นรูปต่างๆใช้วาดภาพ ท่านไม่ได้ใช้โปรแกรมอะไรใหม่ๆ ทำอย่างไรก็ไม่รู้ ใช้ของโบราณนี่แหล่ะ แล้วเอามาทำเอง อย่างที่ทรงเขียนเรื่องพระมหาชนกนี่ ท่านวาดได้ภาพพระมหาชนกว่ายน้ำ แล้วมีนางมณีเมขลาเหาะมา (ทรงพระสรวล) อะไรนี่ วาดได้แล้วก็วาด วาดแผนที่ ก็ไม่ได้ใช้โปรแกรมแผนที่อะไรเขียน วาดเป็นแผนที่อินเดีย แล้วท่านก็กะเอาว่าในชาดกพูดไว้อย่างนี้ ในสมัยใหม่นี้ plot ว่า มันควรจะอยู่ตรงไหน ว่ายน้ำจากตรงไหนไปถึงไหน คนโน้นคนนี้ในเรื่องเดินทางจากไหนไปที่ไหน ขีดในแผนที่สมัยใหม่ว่า มันจะอยู่ในที่ไหน แล้วท่านก็เอาแผนที่อุตุนิยมมา แล้วก็เอามาสันนิษฐานว่า อากาศในวันนั้น ควรจะเป็นอย่างไร เทียบกับตอนนั้น ที่มีพายุพัดชาวประมงไปขึ้นบังกลาเทศ ท่านบอกว่าลักษณะต้องอย่างนั้น ตอนที่ดูพระอาทิตย์ พระจันทร์ต่างๆ position มันคล้ายกันตรงไหน อะไรต่างๆ ท่านก็เอามาเทียบจากเรื่องชาดก มาเป็นเรื่องสมัยใหม่ ท่านก็ใช้ลงในเครื่องพวกนี้ อย่างที่ทรงเพลงใหม่ ก็เห็นพิมพ์ในนั้น ดูเหมือนจะมี Word processor แต่ว่าใช้เขียน อย่างเขียนโน้ตเพลงรัก เพลงเมนูไข่ ที่เขียนใหม่ ก็ใช้เครื่องนั้น หรือพิมพ์หนังสืออะไร จะมีเรื่องมีราวอะไร ท่านก็ใช้พิมพ์ พิมพ์เองทั้งนั้น ไม่ต้องอาศัยเสมียนที่ไหน แล้วก็เขียนเรื่องต่างๆ อย่างพระราชดำรัสตอนวันที่ 4 ธันวา ที่คนมาเฝ้าฯ พอเสร็จแล้ว ท่านก็แปลเป็นภาษาอังกฤษ ท่านแปลของท่านเอง แล้วพิมพ์ลงในนั้น พิมพ์ไว้ เวลานี้ท่านแต่ง auto-biography อยู่ แต่งถึงไหนก็ไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่เคยเห็นของท่านเลย ท่านเขียนลงในเครื่องคอมพิวเตอร์

    จาก "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสนทนาเรื่อง พระราชกรณียกิจ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับเทคโนโลยีสารสนเทศ" วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา หน้า 19-21 คัดลอกจากหนังสือ " ดุจดวงตะวัน" พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี